รุ่นแรกพบรุ่นสุดท้าย Suriyan

วันนี้มีงานครบรอบ 12 ปี SiPA คุณ Jeroen Vermeulen ทีมงาน Suriyan รุ่นแรกแวะมางานด้วย ก็เลยขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักหน่อย ปกติเจอกันก็ไม่เคยถ่ายรูปสักเท่าไรครั้งนี้ก็เลยขอสักภาพ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว Suriyan เป็นโครงการระบบปฏิบัติการในรูปแบบ Server สำหรับ SME พัฒนาบน Debian เป็นหลักมีเครื่องมือ GUI ในการตั้งค่าต่างๆ ผ่านเว็บเบราเซอร์ หลังจากนั้น 2 ปีก็มีการเปลี่ยนแปลงในตัวโครงการ เอามาปัดฝุ่นทำใหม่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องเดสท็อปได้ผลการตอบรับดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ประทับใจบ้าง ปวดร้าวบ้าง… ก็เป็นเรื่องความความทรงจำเก่าๆ

โครงการนี้เลิกทำนานแล้วไม่ต้องถามหาแผ่นกันนะครับ 😛

Suriyan 5504 LTS รุ่นเฉพาะกิจ

บังเอิญมีงานที่ต้องใช้ Ubuntu Custom สำหรับโครงการหนึ่งซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับ ICT ชุมชน ก็เลยถือโอกาส build ช่วงวันเสาร์ ได้ Suriyan 55.04 LTS รหัสพัฒนา?Trafalgar Law ดูหน้าตา

ซึ่งรุ่นนี้อยู่ยาวนานถึง 3 ปี ส่วนรุ่นต่อไป อีก 3 ปีข้างหน้าค่อยมาว่ากันอีกทีนะครับ 🙂 ?สำหรับแหล่งดาวน์โหลด *ไม่มีครับ*?

Suriyan 54.10+1 มีอะไรบ้าง?

ช่วงน้ำท่วมนี้ยังมีงานพัฒนาที่ค้างมาจากเดือนตุลาคม นั่นคือ Suriyan 54.10 Thousand Sunny ซึ่งออกไม่ตรงเวลา เนื่องจากความไม่แน่นอนของหน่วยงานว่าจะให้ออก หรือจะให้หยุด แต่ก็ได้ทำมาครึ่งทางแล้ว ก็ขอออกรุ่นในช่วงเดือนพฤษจิกายนนี้ก็แล้วกัน เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า Suriyan พัฒนาต่อยอดมาจาก Ubuntu ซึ่งรุ่นนี้ก็ใช้ Ubuntu 11.10 Oneric Ocelot เป็นฐาน ซึ่งมาพร้อมกับ Unity Desktop และ Gnome 3 ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ Desktop แบบไหน สำหรับซอฟต์แวร์ที่เพิ่มเติมเข้าไป ได้แก่ Multi Media Codec, Flash Player 11 , Firefox 8, Chrome 15, Libre Office 3.4.4 เป็นต้น
ในรุ่นนี้มีความเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยคือ มีโครงการ Chantra เข้ามาร่วมด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าเอาแผ่นไป Boot เครื่อง จะกลายเป็น Suriyan ถ้าเอาแผ่นใส่ใน Windows จะกลายเป็น Chantra 54.10 ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะว่าใช้พื้นที่ในแผ่น DVD ให้คุ้มค่านั่นเอง สำหรับ Suriyan, Chantra จะไม่มีการปั๊มแจกอีกต่อไป หากท่านใดต้องการสามารถดาวน์โหลดได้ที่ pub.thaiopensource.org ครับ เอา Screen Shot มาฝากเล็กน้อย









วิธีการใช้ DOF ใน Suriyan อย่างถูกวิธี

DOF หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า Driver OFf-line เป็นโปรแกรมเล็กๆ สำหรับติดตั้ง Driver โดยไม่ต้องเชื่อมต่อ Internet ซึ่งมาแก้ปัญหา Jockey ใน Ubuntu 11.04+ ที่ต้องเรียกใช้ผ่าน Internet ทุกครั้งที่ต้องการติดตั้ง Driver ซึ่งหากไม่มี Internet ก็ไม่สามารถติดตั้ง Driver เพิ่มเติมได้ ใน Suriyan รุ่น 53.04 และ 53.10 มี Local Repository ติดมาด้วยเสมอแต่การติดตั้งผ่าน Jockey ในโหมด Off-line ไม่สามารถทำได้ (เฉพาะ Suriyan 54.04) DOF จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้
มาดูวิธีการใช้งาน DOF อย่างถูกวิธีกัน
ปิดคลังซอฟต์แวร์ทั้งหมดเพื่อเลือกใช้คลังซอฟต์แวร์ภายในเท่านั้น


เปิด DOF ใส่รหัสผ่านผู้ดูแลระบบ

กด yes เมื่อโปรแกรมถามว่าเลือกใช้ Local Repository แล้ว

โปรแกรมจะตรวจสอบ Hardware และติดตั้ง Driver ให้อัตโนมัติ

หลังติดตั้งเสร็จให้ restart เครื่องเท่านี้ก็ใช้ได้แล้วครับ
หมายเหตุ DOF ไม่สามารถติดตั้ง Driver ได้ทุกตัว ในเบื้องต้นสามารถติดตั้ง Driver การ์ดจอ nVidia, การ์ดจอ ATI และ Wireless ของ Broadcom ได้เท่านั้น

มีอะไรใหม่ใน Suriyan 54.04 Hawk-Eye

Suriyan 54.04 Hawk-Eye ใช้ Ubuntu 11.04 Natty Narwhal เป็นฐานในการพัฒนาซึ่งใน Natty เองมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากทั้ง Unity ที่เป็น Windows Manager แบบใหม่และวิธีการใช้งานแบบใหม่ ทำให้ Suriyan รับเอาการเปลี่ยนแปลงนั้นมาด้วย แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ยังไม่เหมาะสมกับ Suriyan ในรุ่นนี้มากนัก ทางทีมพัฒนาจึงเลือกใช้ Gnome Desktop เป็น Windows Manager เหมือนเดิม สำหรับท่านที่อยากใช้ Unity สามารถเลือกใช้ได้เช่นกัน Suriyan รุ่นใหม่นี้มีโปรแกรมช่วยจัดการและแก้ปัญหาที่ได้ประสบมาหลายอย่าง เช่น ปัญหาการปรับแต่งของผู้ใช้จากการใช้งานในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ปัญหาเรื่องการสำรองข้อมูล ฟอนต์ภาษาไทยที่ยังไม่สามารถทดแทนฟอนต์ในวินโดวส์ 7 ได้ทั้งหมด การติดตั้งไดรเวอร์โดยที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น
เพื่อใช้แก้ปัญหาข้างต้น ทีมพัฒนาจึงได้พัฒนาโปรแกรมเพิ่มเติมและเพิ่มโปรแกรมที่น่าสนใจลงใน Suriyan รุ่นใหม่ ได้แก่

  1. GOFRIS โปรแกรมคล้ายกับ Deep Freeze บน Windows สามารถเรียกคืนหน้าจอและข้อมูลให้เหมือนเดิมทุกๆ ครั้งที่รีสตาร์ทเครื่องใหม่ ผู้ดูแลระบบสามารถตั้งค่าล็อกข้อมูลในไดเรคทอรีบ้านของผู้ใช้ได้ เหมาะกับคอมพิวเตอร์ที่เปิดให้บริการแบบสาธารณะประเภท Kios คอมพิวเตอร์ในห้องสมุด คอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการ
  2. DOF โปรแกรมสำหรับติดตั้งไดรเวอร์แบบออฟไลน์ โปรแกรมจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์ภายในเครื่องและทำการติดตั้งไดรเวอร์ให้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต โดยติดตั้งไดรเวอร์เบื้องต้นให้เช่น การ์ดจอ nVidia, ATI และ Wireless Card ของ Broadcom
  3. Inxi โปรแกรมที่เสริมเข้ามาใช้เรียกดูข้อมูลฮาร์ดแวร์ของเครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการรับคำปรึกษาและสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการ ติดตั้งไดรเวอร์และการใช้งาน Suriyan

นอกจากโปรแกรมชุดใหม่ 3 ตัวแล้ว Suriyan ยังเพิ่มซอฟต์แวร์สามัญประจำเครื่องไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมพิมพ์งานเอกสารตั้ง ค่าพร้อมใช้งาน พร้อมแม่แบบเอกสารราชการ ฟอนต์ภาษาไทยกว่า 40 แบบ โปรแกรมตกแต่งภาพ โปรแกรมด้านงานกราฟิกเวกเตอร์ โปรแกรมดูหนังฟังเพลง ฯลฯ
Suriyan เป็นระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สพัฒนาต่อยอดจาก Ubuntu คุณสามารถใช้งาน Suriyan ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งานหรือค่าไลเซนต์ Suriyan ยังต้องการนักพัฒนาอิสระเข้าร่วมโครงการอีกมาก หากท่านสนใจสามารถติดต่อได้ที่ anuchit [at] redlinesoft [dot] net

คลังความรู้ ภาค Suriyan

ตามดูเว็บโครงการเก่าๆ suriyan.in.th และ chantra.in.th พบว่ายังมีคนเข้าเว็บอยู่เรื่อยๆ ก็เลยคิดว่าน่าจะไล่ URL ที่น่าสนใจใน 2 เว็บนี้ออกมา เริ่มจาก Suriyan ก่อนละกันครับ

40 ฟอนต์ไทย ใน Suriyan

Suriyan รวบรวมฟอนต์ภาษาไทยที่สามารถใช้งานร่วมกับ Linux ได้เป็นอย่างดีที่สามารถทดแทนฟอนต์ที่ลายเส้นคล้ายคลึงกันได้ ซึ่งฟอนต์สวยๆ ทั้งหมดต้องยกเครดิตให้ผู้ออกแบบและนักพัฒนาครับ Suriyan มีฟอนต์ไทยกว่า 40 แบบที่สามารถใช้ในงานออกแบบงานกราฟิกได้จริง มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ตัวพิมพ์คมชัด ท่านใดที่ทำงานด้านกราฟิกแล้วใช้ Linux อยู่ห้ามพลาดครับ ท่านสามารถดาวน์โหลด Suriyan build ล่าสุดได้ที่ Suriyan Archive หรือติดตั้งฟอนต์ทั้งหมดได้จาก Suriyan Repository ได้เช่นกัน ดูภาพฟอนต์สวยๆ ได้ข้างล่างครับ สำหรับชื่อภาษาไทยของฟอนต์บางตัวอาจพิมพ์ไม่ถูกต้อง ก็ขออภัยด้วยครับ 🙂

ติดตั้งฟอนต์ไทยให้ครบชุดจากคลังซอฟต์แวร์ของ Suriyan

ทีมพัฒนา Suriyan ได้เปิดคลังซอฟต์แวร์ให้บริการนักพัฒนาและผู้ที่สนใจมาระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้จาก Suriyan, Ubuntu หรือแม้กระทั่ง Debian สำหรับในรุ่นใหม่นี้ ผู้ที่ใช้งาน Ubuntu 10.04 Lucid Lynx สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์และแพคเกจต่างๆ ที่มีอยู่ใน Suriyan ได้ วันนี้มีชุดฟอนต์ภาษาไทยมานำเสนอครับ ฟอนต์ภาษาไทยใน Suriyan รวบรวมมาจากหลายแหล่ง จากชุมชน สมาคม และจากซิป้าเอง ทำให้ Suriyan ได้เปรียบเรื่องฟอนต์ภาษาไทยเมื่อเทียบกับ Linux Distribution อื่นๆ แต่ทางทีมพัฒนาเองได้แบ่งปันคลังซอฟต์แวร์ให้ได้เรียกใช้กันง่ายๆ ติดตั้งกันได้ง่ายๆ ใครอยากได้ฟอนต์สวยๆ เพิ่มเติม มาติดตั้งกันเลย
ใครยังไม่ได้ติดตั้ง suriyan-repository ให้ติดตั้งก่อนครับ ใครติดตั้งแล้วข้ามขั้นตอนต่อไปได้เลย

wget http://www.suriyan.in.th/repo/pool/main/s/suriyan-repository/suriyan-repository_1.0-8_all.deb
sudo gdebi suriyan-repository_1.0-8_all.deb
sudo apt-get update

จากนั้นติดตั้งฟอนต์กันได้เลยครับ

sudo apt-get suriyan-thai-fonts

เท่านี้ก็ได้ฟอนต์ภาษาไทยใน collection ของ Suriyan กันแล้ว 🙂 ง่ายมั๊ย

การใช้งาน Suriyan Repository สำหรับ Ubuntu 10.04 Lucid Lynx

Suriyan 53.04 ใช้ Ubuntu 10.04 เป็นดิสโตรตั้งต้นในการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาหลักๆ คือการเพิ่มและปะในส่วนที่ขาดเพื่อเสริมให้ Ubuntu เหมาะสมกับการใช้งานภาษาไทยมากขึ้น ดังนั้นคลังซอฟต์แวร์หรือ Software Repository สามารถเรียกใช้ข้ามกันได้ ทางทีมพัฒนาไม่ได้ปิดกั้นแต่อย่างใด วิธีการก็เหมือนกับการเรียกใช้งานก็เหมือนกับการเรียกใช้งาน Repository อื่นๆ วิธีง่ายที่สุดคือการติดตั้ง package ที่ชื่อ suriyan-repository เพื่อติดตั้ง key และข้อมูลคลังซอฟต์แวร์ วิธีการติดตั้งมีดังนี้
ดาวน์โหลดไฟล์แพคเกจ suriyan-repository มาก่อนครับ

wget http://www.suriyan.in.th/repo/pool/main/s/suriyan-repository/suriyan-repository_1.0-8_all.deb

จากนั้นสั่งติดตั้งโดยใช้คำสั่ง

sudo gdebi suriyan-repository_1.0-8_all.deb

จากนั้นก็ Update cache

sudo apt-get update

มาลองติดตั้ง package ของ Suriyan กันเลย ตัวอย่างเช่น suriyan-wallpaper-extra

sudo apt-get install suriyan-wallpaper-extra

สำหรับรายการ package ดูรายชื่อได้ที่ Suriyan Development Wiki

สะท้อนปัญหา Suriyan ทางออกและการแก้ไข

วันนี้ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนการใช้งาน Suriyan เดินไป เดินมา จนได้ขึ้นไปพูดบนเวทีจนได้ ทำให้ได้ทราบปัญหาในเรื่องการใช้งาน Suriyan และปัญหาที่ผมมักจะชอบพูดว่าเป็นปัญหาจุกจิก ซึ่งทำให้ผมเห็นว่าการเริ่มใช้ Suriyan หรือ Linux มันยากสำหรับผู้เริ่มต้นที่ไม่คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์มากนัก สำหรับเด็กๆ รุ่นใหม่ก็อาจจะปรับตัวได้เร็ว สำหรับคนรุ่นเก่า สว.อาจปรับตัวช้า ส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องระยะเวลาในการศึกษาการปรับตัว ความยาก ตั้งกำแพง ฯลฯ ผมเห็นปัญหาแบบนี้มาหลายแห่ง ซึ่งปัญหาจุกจิกเหล่านี้แก้ได้ด้วยตัวผู้เรียนเองเท่านั้น ผู้สอนคงทำหน้าที่เพียงตอบคำถาม สร้างความมั่นใจ โฆษณาชวนเชื่อ 😛 ให้ได้เท่านั้น
หลายคนยังเป็นกังวลว่า Suriyan จะทำอยู่อีกนานมั๊ย อืมมมมม เรื่องทำอีกนานมั๊ยคงตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของเจ้าของโครงการ คือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ สำหรับผมทำหน้าที่ดูแลในฐานะนักพัฒนาคนหนึ่งเท่านั้น อย่างที่เคยเขียนไว้ในเว็บไซต์ Suriyan ว่าโครงการนี้ตั้งต้นไว้ดี แต่แปลงร่างหลายกระบวนท่ามากไปหน่อย เวลาคนมองดูโครงการทำให้เกิดความไม่แน่ใจ
ความจริงแล้ว Suriyan เป็นของทุกคน อยากพัฒนาเพิ่มเติม หรืออยากทำอะไร ทำเพิ่มเติมได้ คุณสามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ในแนวทางเดิม ดังนั้นการเข้ามาร่วมพัฒนาหรือที่เราเรียกว่าการ Contribute นั้น ทีมงาน Suriyan เปิดโอกาสให้เต็มที่ ซึ่งการ Contribute เป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยให้ Suriyan คงอยู่ เช่นกัน ถึงแม้ว่าทีมพัฒนาชุดเดิมอาจจะไม่ได้อยู่ดูแลโครงการนี้ เป็นต้น Continue reading