วันนี้มีงานครบรอบ 12 ปี SiPA คุณ Jeroen Vermeulen ทีมงาน Suriyan รุ่นแรกแวะมางานด้วย ก็เลยขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกสักหน่อย ปกติเจอกันก็ไม่เคยถ่ายรูปสักเท่าไรครั้งนี้ก็เลยขอสักภาพ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว Suriyan เป็นโครงการระบบปฏิบัติการในรูปแบบ Server สำหรับ SME พัฒนาบน Debian เป็นหลักมีเครื่องมือ GUI ในการตั้งค่าต่างๆ ผ่านเว็บเบราเซอร์ หลังจากนั้น 2 ปีก็มีการเปลี่ยนแปลงในตัวโครงการ เอามาปัดฝุ่นทำใหม่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องเดสท็อปได้ผลการตอบรับดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ประทับใจบ้าง ปวดร้าวบ้าง… ก็เป็นเรื่องความความทรงจำเก่าๆ
โครงการนี้เลิกทำนานแล้วไม่ต้องถามหาแผ่นกันนะครับ 😛
SiPA
There are 5 posts tagged SiPA (this is page 1 of 1).
งบประมาณ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าประชุมกับผู้บริหารของสำนักงานฯ ซึ่งได้ส่งสัญญาณมาว่าจะไม่มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับโอเพนซอร์สแล้ว เพราะอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็จะเปิด AEC แล้ว ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาการกระตุ้นกลุ่มผู้ใช้ในเกิดความตระหนักในเรื่องซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ และผู้ใหญ่ระดับสูงไม่ค่อยเห็นด้วยนัก ก็เลยได้การบ้านกลับมาคิดว่าอยากทำอะไรให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เดินหน้าฝ่า AEC ต่อไปได้ จะโอเพนซอร์สหรือไม่โอเพนซอร์สก็ลองไปคิดดู
สำหรับผมเองเลิกคิดเรื่องการสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในกลุ่มผู้ใช้ไปนานแล้ว เพราะไม่ว่าอย่างไร ความคุ้นเคย ความสะดวกสะบาย ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ หากต้องมาใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่คุ้นเคยการต่อต้านย่อมเกิด การต่อต้านจะไม่เกิดเมื่อองค์กรมีนโยบายที่ชัดเจน ต้องการลดต้นทุนซอฟต์แวร์ลงจริงๆ ช่วงปี 2009 กระแสของ Cloud เริ่มมาแรงทั้ง IaaS และ SaaS การเปิดตัว Google Apps การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ SaaS ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจแบบ Pay as You Go กระแสการใช้ SaaS เน้นการจ่ายที่น้อยลง ซึ่งได้ผลลัพท์ที่ดี ดังนั้นเรื่องโอเพนซอร์สน่าจะวนกลับไปเป็นเรื่องหลังบ้านที่คนทั่วไปไม่ต้องรับรู้น่าจะดีที่สุด การสนับสนุนให้นักพัฒนาต่อยอดความสามารถจากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สจะเป็นต้นทุนที่ดีในการเริ่มทำผลิตภัณฑ์และบริการ จะช่วยลดเวลาในการเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว หากใช้โมเดลในการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สก็จะยิ่งเกิดประโยชน์มหาศาล
ไม่มีงบแล้วจะทำอย่างไร? ในปี 2010 ผมโดนให้ออกจากสำนักงานฯ ไปเร่ร่อนอยู่ 3 เดือน เรื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งเป็นปัญหาที่ลามมาจากปัญหาการเมืองภายใน พอกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในปี 2011 ฝ่ายโอเพนซอร์สก็โดนยุบเนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กร มีนโยบายไม่ให้วิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่างระบบปฏิบัติการ Suriyan และชุดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส Chantra ก็บอกเป็นนัยแล้วว่า การสนับสนุนการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สคงไม่มีแล้ว ให้เตรียมกดสวิตท์พาราชูตได้ จากหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมไม่ค่อยแคร์เรื่องเหล่านี้เท่าไร เรียกได้ว่าเข้าใจ มีเริ่มก็ต้องมีเลิก เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับคนที่ติดตามจาก thaiopensource.org, บล็อกของผมที่นี่ และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็คงได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร, How-To และบทความต่างๆ ไม่มากก็น้อย อนาคตจะเป็นอย่างไรก็คงต้องรอดูกันต่อไปครับ
ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา SIPA มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งดูแล้วเหมือนโครงสร้างจะเล็กลงแต่ก็ไม่เล็กซะทีเดียว สรุปแล้วมี 15 ฝ่าย 4 สาย? ได้แก่
สายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี
- ฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนงาน
- ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี
- ฝ่ายพัฒนาบุคลากรและวิชาการ
สายส่งเสริมอุตสาหกรรม
- ฝ่ายมาตรการส่งเสริม
- ฝ่ายส่งเสริมการตลาด Enterprise
- ฝ่ายส่งเสริมการตลาด Digital Content
- ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ
- สาขา เชียงใหม่, ภูเก็ต, นครราชสีมา, ศูนย์ไทยกริดฯ
สายบริหาร
- ฝ่ายบริหารทั่วไป
- ฝ่ายบัญชี การเงิน งบประมาณ
- ฝ่ายกฏหมาย
- ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
สายสำนักงาน
- ฝ่ายตรวจสอบ
- ฝ่ายสื่อสารองค์กร
- ฝ่ายบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน
หากท่านดูแล้วจะทราบว่าไม่มีฝ่ายโอเพนซอร์สแล้ว สำหรับภาระหน้าที่ที่เกี่ยวกับโอเพนซอร์สหลังจากนี้คงไม่มีแล้วครับ ก็ขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่เป็นกำลังใจคอยให้กำลังใจอยู่เสมอๆ ภาระหน้าที่ใหม่ของผมจะอยู่ใน “ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี” ซึ่งมี 16 ชีวิตถือว่าเป็นทีมที่ใหญ่กว่าเดิม มีคนเก่งๆ หลายด้านอยู่ในฝ่ายนี้ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านเทคโนโลยีเพื่อที่จะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการได้ ผู้ประกอบการท่านใดหรือผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เข้ามาปรึกษาหรือสอบถามกันได้ครับ 🙂
อบรม Cloud กับ SIPA
SIPA กับ Cloud เนี่ยผลุบๆ โผล่ๆ มานานละ ไม่ค่อยอยากย้อนอดีตแต่ก็เวลามีคนพูดถึง Cloud ที่ SIPA แล้วรู้สึกอึดอัด ประมาณว่า “พวกเมิงมีโอกาสครั้งนึงแล้ว แต่ทำไมไม่ทำ ?” จริงๆ ครับ โครงการที่เกี่ยวกับ Cloud ที่ SIPA มามานานแล้ว ประมาณเกือบๆ 2 ปีเห็นจะได้ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะไม่มีใครเข้าใจ จนเอาเข้าจริง 2 ปีให้หลังดันมาสนใจ เห็นเขาว่า Cloud ก็ Cloud กับเขาด้วย แต่ก็แค่ งูๆ ปลาๆ เพราะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อวานพี่ที่ TD1 ส่งสัญญาณเรื่องการอบรม Cloud ซึ่งฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีฝากถามมา โดยให้ผมหาคอร์สอบรมให้ ผมก็เลยจัดคอร์สชุดใหญ่ อบรม 4 วัน วันละ 6 ชั่วโมง เอาแบบให้ตายกันไปข้างนึง คอร์สชื่อ Building and Using a Eucalyptus Cloud คอร์สนี้เป็นของ Eucalyptus จริงๆ ซึ่งต้องไปเรียนที่อเมริกาโน่นเลย ผมคิดว่าใครได้ไปเรียนคอร์สนี้ถือว่าคุ้มค่ามากๆ นอกจากจะได้ไปแคลิฟอร์เนียแล้ว ยังได้ไปเรียนกับต้นตำหรับผู้พัฒนา Eucalyptus จริงๆ ด้วย อ้อ ลืมไป ค่าเรียนตกอยู่คนละ 4 หมื่นกว่าๆ ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ คิดว่า ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี คงมีคำตอบที่ดีๆ ให้เร็วๆ นี้ หวังว่าจะมีโครงการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจไปเรียน Eucalyptus ที่ต่างประเทศ หรือเชิญวิทยากรบินมาสอนที่นี่ ก็คิดไปเรื่อยเปื่อย บางทีอาจเงียบเหมือนเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ อย่างที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรก ถ้า SIPA ยัง งูๆ ปลาๆ ในเรื่อง Cloud อยู่ก็คาดหวังได้อยากครับ 😛
ซิป้าโคราชกับห้องเรียนโอเพนซอร์ส
วันนี้ผมได้มีโอกาสมาเป็นกรรมการพิจารณาผลงานการประกวดในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ IT Esaan ที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งขาติ (องค์การมหาชน) สาขา นครราชสีมา ซึ่งวันนี้มีการเปิดตัวโครงการห้องเรียนโอเพนซอร์สและมีการอบรมระบบ ปฏิบัติการ Suriyan ด้วย ผมและทีมงาน Thai Open Source ปลุกปล้ำ Suriyan มาได้เกือบครึ่งปีที่ผ่านมา ทีมงานได้พยายามค้นหายอดฝีมือมาเขียนคู่มือ Suriyan และแผ่นสื่อการสอนที่จะออกมาประมาณกลางปีนี้ แต่วันนี้ผมพบว่าทีมงานและบุคลากรทางภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลัก 5 มหาวิทยาลัยที่มีความตั้งใจจะเผยแพร่ความรู้ด้านโอเพนซอร์สให้เป็นที่ แพร่หลายในภาคอีสาน วันนี้ผมพบแล้วว่า 5 มหาวิทยาลัยสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญและเป็นแบบอย่างในการผลักดัน โอเพนซอร์สเข้าสู่ชุมชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนได้
สิ่งที่ประหลาดใจและประทับใจมากที่สุดคือหนังสือคู่มือ “Suriyan ระบบปฏิบัติการแห่งยุค” เขียนโดย คุณกิตติกร กรรณิการ์ เป็นหนังสือ Suriyan เล่มที่ 2 ที่ผมอ่านแล้วประทับใจ แต่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาเร็วมาก พิมพ์ครั้งแรก จำนวน 2,000 เล่ม เมื่อเดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา สำหรับหนังสือเล่มนี้พิมพ์ 4 สี ทั้งเล่ม อ่านเข้าใจง่าย แต่ไม่ทราบว่ามีจำหน่ายหรือไม่ ถ้าอยากได้คงต้องติดต่อทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งขาติ (องค์การมหาชน) สาขา นครราชสีมาครับ